จักรวาล Pride and Prejudice และเรื่องเล่าของ Jane Austen

ใครรู้จัก อลิซาเบ็ธ เบ็นเน็ต และคุณดาร์ซี่บ้างขอให้ยกมือขึ้น! แต่ถ้าใครไม่รู้จักก็ไม่เป็นไร ขอให้มารวมตัวกันทางนี้ เพราะเราอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักวรรณกรรมอมตะที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงในสมัยนั้น และไม่ว่าจะอ่านกี่ครั้งก็ครองใจผู้หญิงกันไปนักต่อนัก วรรณกรรมเรื่องนั้นคือ “Pride and Prejudice” หรือฉบับแปลไทยว่า “สาวทรงเสน่ห์” ของ Jane Austen นั่นเองค่ะ

แน่นอนว่านอกจากหนังสือแล้ว เรื่องนี้ยังทำเป็นมินิซีรีส์ 6 ตอน ในปี 1995 นำแสดงโดย  Colin Firth และ Jennifer Ehle ซึ่งคุณดาร์ซี่ฉบับคอลิน เฟิร์ท ก็เป็นที่ประทับใจสาวๆ จากรุ่นสู่รุ่น ต่อมาก็มีการนำไปทำเป็นภาพยนตร์ในปี 2005 นำแสดงโดย  Keira Knightley และ Matthew Macfadyen ซึ่งในเรื่องนี้ใครๆ ต่างก็ต้องตกหลุมรักให้กับรอยยิ้มสดใสของเคียร่าที่รับบทเป็นอลิซาเบ็ธ เบ็นเนต นั่นเอง

 

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะความโด่งดังของ Pride and Prejudice ยังคงเป็นที่ตราตรึงจนผู้กำกับหลายต่อหลายคนได้นำไปดัดแปลงใหม่เช่น  Bridget Jones’ Diary (2001) นำแสดงโดย Renée Zellweger และ Colin Firth (อีกครั้งกับบทคุณดาร์ซี่) Bride and Prejudice (2004) หนัง Bollywood ที่นำแสดงโดย Aishwarya Rai และ Martin Henderson หรือล่าสุดกับการดัดแปลงจนกลายเป็น Pride and Prejudice and Zombies นำแสดงโดย Lily James และ Sam Riley ไปแล้วนั่นเอง

ทำไมเรื่องนี้ถึงน่าสนใจและโด่งดังได้ขนาดนี้ แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ผู้คนต้องจำได้เป็นอย่างดีคือเรื่องราวที่พูดถึงหญิงสาว ความสัมพันธ์ และการเลือกทำตามอย่างที่ใจปราถนา เป็นวรรณกรรมที่พูดถึงเรื่องความรัก แต่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นด้วยการสะท้อนปัญหาชีวิตของผู้หญิงซึ่งโดนกดข่มไว้ให้คนอ่านได้รับทราบ เรียกได้ว่าเจน ออสเตน เป็นนักเขียนหญิงยุคแรกๆ ที่เข้าใจปัญหาในสังคมปิตาธิปไตยที่ผู้หญิงไม่อาจทำได้ตามที่ตนต้องการแม้แต่เรื่องหัวใจของตัวเอง

 

“It is a truth universally acknowledged,

that a single man in possession of a good fortune,

must be in want of a wife.” 

 

ประโยคด้านบนมาจากย่อหน้าแรกในหนังสือ Pride and Prejudice ซึ่งเป็นประโยคอมตะที่นักอ่านคนไหนได้เห็นจะต้องจำได้ทันที นี่คือประโยคที่สะท้อนไปถึงสังคมในศตวรรษที่ 19 ในสมัยนั้นผู้หญิงไม่อาจถือครองทรัพย์สินได้ ทำได้เพียงแต่แต่งงานกับผู้ชายที่ร่ำรวยและมีทรัพย์สินมากๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าตัวเองและครอบครัวของเธอจะมีชีวิตที่สุขสบาย หน้าที่เดียวของผู้หญิงจึงมีเพียงแค่หน้าที่ของการเป็นภรรยา

อลิซาเบ็ธคือตัวละครหญิงที่เลือกทำตามที่ใจต้องการมากกว่าถูกบังคับ หากย้อนกลับไปในยุคนั้นเธอคงเป็นลูกสาวที่อกตัญญู ไม่เชื่อฟังครอบครัวและแปลกประหลาดไปจากผู้หญิงทั่วไป เพียงเพราะเธอเชื่อมั่นในหัวใจของตนเอง อลิซาเบ็ธเชื่อว่าความรักเกิดจากหัวใจไม่ใช่ทรัพย์สิน นับได้ว่าเป็นข้อเรียกร้องแรกๆ ที่ออสเตนพยายามสื่อสารให้ผู้หญิงในยุคของเธอได้ตระหนัก

ด้วยการเล่าเรื่องที่เรียบง่ายซึ่งเกิดจากการพูดถึงวิถีชีวิตและประสบการณ์ที่ผู้หญิงในยุคนั้นต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคู่แต่งงาน การออกไปงานเต้นรำเพื่อพบปะกับชายที่จะให้ความมั่นคงแก่พวกเธอ พูดให้ง่ายขึ้นก็คือออสเตนได้เขียนถึงชีวิตธรรมดาๆ ของผู้หญิง ซึ่งทำให้เข้าถึงคนอ่านได้มากกว่า จึงไม่แปลกที่ผลงานของเธอจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม

 

“Do not consider me now as an elegant female intending to plague you,

but as a rational creature speaking the truth from her heart.”

 

ออสเตนไม่เพียงจะพูดถึงความสัมพันธ์เท่านั้น แต่เธอยังพูดถึงคุณค่าและความเท่าเทียมของผู้หญิงที่ควรได้รับ เพราะสมัยก่อนนั้นผู้หญิงมีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าผู้ชายเสียอีก อาจจะพูดได้เลยว่า เจน ออสเตน คือผู้หญิงที่เขียนถึงผู้หญิงได้อย่างลึกซึ้งและช่วยให้ผู้หญิงรู้จักคุณค่าของตนเองจนกล้าที่จะทำตามหัวใจกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นสาวๆ คนไหนที่ต้องการกำลังใจในการต่อสู้กับทางเลือกของตัวเอง ลองอ่านกันดูนะคะ 😉

 

Source:

https://www.bl.uk/romantics-and-victorians/articles/jane-austens-social-realism-and-the-novel

Written byPployrung Sibplang

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply