playground

paper passion

 

พิม จงเจริญ ตกหลุมรักงานศิลปะสไตล์ Paper Craft ตั้งแต่เด็ก เธอใช้หัวใจระบายความฝันลงบนกระดาษขาวที่ว่างเปล่า จนกลายเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าชื่อ Teaspoon

 

แม้ต้องเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเอนต์ไม่ติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ แต่พิมก็ไม่คิดที่จะขยำความรักในงานศิลปะจากกระดาษทิ้งลงถังขยะไปง่ายๆ “ขนาดตอนฝึกงาน พิมยังไปฝึกที่ Munchu’s เลย พี่โพด (มัญชุมาศ นำเบญจพล) ยังงงเลยเพราะ ไม่เคยมีเด็กรัฐศาสตร์มาฝึกงาน ตอนนั้น ก็ได้ทำลายผ้า สนุกดี ถือว่าเป็นจุดแรกๆ ที่พิมได้ทำงานด้านกราฟิก” พิมเล่าย้อน ไปถึงสมัยเรียน “พอเรียนจบก็มีเพื่อนชวน ไปทำที่กราฟิกสตูดิโอ Be Our Friend แต่ไปทำตำแหน่งเออี ตอนนั้นเรารู้ตัวว่าถึงไปสมัครเป็นดีไซเนอร์ก็คงไม่ได้ เพราะไม่มีพอร์ตอะไรเลย ทำอยู่ปีหนึ่ง แต่ในระหว่างนั้นทุกคนรู้ว่าพิมอยากทำ เขาก็ให้ช่วยตัดกระดาษ ช่วยทำอะไรบ้าง” จากนั้น พิม ม้วนความฝัน ที่คั่งค้างอยู่ในใจ และบินไปเรียนต่อด้านกราฟิกที่ London College of Communication (LCC) ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 2 ปี “ตอนนั้นเหมือนเราได้เจอตัวเองแบบสุดๆ ที่นั่น ด้วยความที่เขาไม่ได้บังคับว่าต้องทำอะไร อยากทำอะไรก็ทำพิมชอบวาดรูป ก็วาดมันไปทุกโปรเจ็กต์ และเริ่มหัดทำแพตเทิร์น ก็ชอบอีก เลยคิดว่ามาถูกทางแล้ว” พิมบอกว่าเธอชอบไปร้าน Goose มาแต่ไหนแต่ไรและซื้อกระดาษห่อของขวัญมาเก็บไว้ “พิมมีความฝันว่าสักวันจะต้องมีร้านกระดาษเป็นของตัวเอง”

 

เมื่อกลับจากอังกฤษ พิมไม่รีรอให้เชื้อไฟมอดลง เธอรีบติดต่อโรงพิมพ์และศึกษาราคากระดาษ แต่พบว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่เธอคิด “เราเพิ่งรู้ว่าต้องพิมพ์ทีละเยอะๆ และมีเรื่องอะไรอีกเยอะมากที่เราไม่รู้ ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องธุรกิจอะไรเลย ก็คลำไปเรื่อยๆ เสิร์ชหาข้อมูลเอาเอง ไปขอตัวอย่างกระดาษมาดู” ในเวลาเดียวกับที่พิมกำลังสานฝันเรื่องร้านขายกระดาษ เธอก็รับงานวาดรูปและงานออกแบบกระดาษอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่วอลเปเปอร์เว็บไซต์ ลายผ้า การ์ด จนถึงซุ้มดอกไม้ในงานวิวาห์ “ปีที่แล้วพิมทำงานแต่งงานไปตั้ง 5 งาน จนต้องอธิบายว่าเราไม่ได้เป็นออแกไนเซอร์จัดงานแต่งนะ” พิมหัวเราะ “แต่ทุกงานที่พิมทำก็ได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ นะ แต่เหมือนเป้าหมายหลักที่เรารับงานเรื่อยๆ คือหาเงินมาลงทุนทำธุรกิจร้านขายกระดาษของเรา”

 

หลังจากนั้นหนึ่งปี พิมหยิบกระดาษแห่งความฝันที่ใส่ไว้ในลิ้นชักขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ กระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ Teaspoon ก็วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกที่เรนฮิลล์ ตามมาด้วยร้าน The Selected สยามเซ็นเตอร์ โดยมีกระดาษห่อของขวัญ สติ๊กเกอร์ และการ์ด เป็นคอลเลกชั่นแรก “พิมจะเลือกวัสดุที่ดีที่สุดเสมอ พิมจะตั้งตัวเองเป็นลูกค้าและจะทำของที่พิมจะซื้อ เรายอมเอากำไรน้อยหน่อยแต่ของต้องดูดีไว้ก่อน” ชื่อ Teaspoon มาจากบล็อกเกี่ยวกับดีไซน์ที่พิมเคยทำไว้ รวมทั้งเป็นชื่อแบรนด์เครื่องเขียนสำหรับโปรเจ็กต์สุดท้ายของเธอที่ LCC “ถ้าคนถามว่า Teaspoon คืออะไร พิมก็ตอบไม่ได้ชัดเจน เราทำงานคราฟต์เป็นหลัก ทุกวันที่เราทำงานมีเรื่องเซอร์ไพรส์ตลอด

 

ทุกวันนี้คนถามตลอดว่าเมื่อไหร่จะมีคอลเลกชั่นใหม่ออกมา แต่พิมไม่มีเวลาเลย เพราะเรายังรับงานลูกค้าอยู่ตลอด และพิมทำคนเดียวทุกอย่าง มีฝรั่งอีเมล์มาขอไพรซ์ลิสต์ พิมยังไม่รู้เรื่องเลย ใบส่งของเป็นยังไง จะต้องมีสคบ.นะ แล้วสคบ.คืออะไร (หัวเราะ) เหมือนหลายคนที่อยากเป็นดีไซเนอร์ทำงานออกแบบ แต่ในเวลาจริงเราก็ต้องทำงานเอกสารไปด้วยนะ จะให้จ้างคนเราก็ยังไม่มีเงินขนาดนั้น แต่ถึงมีเงินจ้าง เราก็รู้สึกว่าเราต้องทำเองให้เป็นก่อน ตอนนี้ทำใบส่งของคล่องขึ้นแล้ว ภูมิใจมาก” พิมเล่าอย่างอารมณ์ดี

 

 

เสน่ห์ในงานทุกชิ้นของ Teaspoon คือเริ่มต้นจากการวาดด้วยมือล้วนๆ จะใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการสแกนและจัดเรียงเท่านั้น “ตอนนี้เหมือนทุกอย่างโดนกลืนด้วยเทคโนโลยีหมดแล้ว แต่สำหรับพิม งานคราฟต์มันไม่ตายอยู่แล้ว กราฟิกหรือแอนิเมชั่นสมัยใหม่สวยๆ มันก็มีเยอะ แต่เราก็ยังเห็นคนปั้นดินน้ำมันทำเป็นสต๊อปโมชั่น หรือหลายคน ก็ยังคิดถึงการ์ตูนดิสนีย์ที่เป็นลายเส้นสมัยก่อน พิมไม่ดูการ์ตูนดิสนีย์อีกเลยตั้งแต่เป็นคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น” พิมบอกว่าเธอชอบเปิดช่องการ์ตูนทิ้งไว้ บนจอโทรทัศน์ระหว่างทำงาน นั่นคือแรงบันดาลใจชั้นยอดของเธอ “มันมีความแฟนตาซี เหมือนเราได้หนีออกไปจากโลกแห่งความจริง” ไม่แปลกใจที่มีภาพสัตว์และสิ่งของในเทพนิยายปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์ของ Teaspoon

 

“ทุกงานมีเสน่ห์ในตัวของมัน แล้วแต่เราชอบแบบไหนมากกว่า เคยมีงานกราฟิกหลายงานที่พิมทำในคอมพ์ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่พิมไม่แฮปปี้เท่ากับงานคราฟต์ที่เราจะจับต้องได้” พิมพูดถึงเสน่ห์อันน่าหลงใหลของ Paper Craft “ข้อจำกัดของงานคราฟต์มันก็เยอะกว่า อย่างในคอมพ์ถ้าลงสีผิดก็กด Undo กลับไปแก้ได้ แต่งานคราฟต์ถ้าลงสีไปแล้วลูกค้าไม่ชอบ ก็ต้องวาดใหม่หมด” พิมบอกว่าเมื่อใดที่เธอรู้สึกเหนื่อยและไฟมอดจากการทำงานของลูกค้าก็มักจะมานั่งตัดกระดาษและประดิษฐ์งานกระจุกกระจิก “พิมจะมีงานส่วนตัวตลอดเพราะพิมคิดว่า Passion คือสิ่งสำคัญที่สุด”

www.teaspoonstudio.com

 

เรื่อง: ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์

ภาพ: ปวีณ์ธิดา ธัญญศิริ

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply