just slow down

 

ความสุขในการไปท่องเที่ยวต่างแดนของคนส่วนใหญ่มักแขวนอยู่บนเข็มนาฬิกาในแต่ละวัน เราต้องเร่งทำเวลาในการไปเยือนแลนด์มาร์กแต่ละแห่งเพื่อให้เที่ยวได้ครบตามตารางที่วางไว้ แถมยังต้องแอบขอเวลานอกเป็นครั้งคราวสำหรับการช้อปปิ้ง แต่สำหรับ ‘หลวงพระบาง’ เมืองเล็กๆ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น คุณมาเพื่อประวิงเวลาและหัวใจให้ช้าลง

 

เมืองหลวงของลาวในอดีตและเมืองมรดกโลกในปัจจุบันแห่งนี้ ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นท้องถิ่นที่สงบสุขและอบอุ่น ด้วยที่ตั้งของเมืองอันสมบูรณ์แบบและหาได้ยาก คืออยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ทอดขนานไปกับแม่น้ำโขงและแม่น้ำคานซึ่งไหลมาบรรจบกัน โดยมีขุนเขาเขียวขจีโอบล้อมอยู่รอบเมือง ธรรมชาติอันงดงามเหล่านี้น่าจะมีส่วนสำคัญในการขัดเกลาจิตใจของพี่น้องชาวหลวงพระบางให้ใจเย็น ใจดี และมีไมตรีจิต ยิ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยเราที่ไร้กำแพงภาษามากางกั้นก็ยิ่งง่ายต่อการพูดคุยสื่อสารและรู้ซึ้งถึงคำว่า ‘บ้านพี่เมืองน้อง’ ระหว่างไทย-ลาว แม้จะมีตัวอักษรและศัพท์บางคำที่ใช้ต่างความหมายกัน แต่บ่เป็นหยังดอก เว่ากันม่วนชื่น ผู้คนที่ยิ้มแย้มแจ่มใสของหลวงพระบางนี่แหละถือว่าเป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้หลายคนตกหลุมรักเมืองแห่งนี้ และไม่น่าเชื่อว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่องค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก เมื่อปี 1995

 

นอกจากความรื่นรมย์ของธรรมชาติซึ่งส่งผลต่อภูมิอากาศที่ดีตามไปด้วย โดยเฉพาะหากได้มาเยือนในระหว่างปลายปีถึงต้นปีก็จะรู้สึกสดชื่นกับอากาศเย็นสบาย หลวงพระบางยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ได้รับการอนุรักษ์ความเก่าแก่ดั้งเดิมไว้ได้ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นหมายถึงวัดวาอาราม 40 วัดที่เรียงรายเป็นดอกเห็ดอยู่ทั่วเมือง หลายต่อหลายวัดมีอายุอานามไม่ต่ำกว่า 700 ปี บวกกับอาคารบ้านเรือนในเมืองซึ่งล้วนสะท้อนถึงสถาปัตยกรรมงดงามเฉพาะตัวของลาว ผสมผสานกลิ่นอายแบบยุโรปอันเป็นผลพวงจากการตกเป็นอาณานิคมตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19-20 โดยส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างหลักจากไม้ แต่ใช้เทคนิคและวัสดุตกแต่งแบบโคโลเนียลด้วยการใช้อิฐและปูน

 

วัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและถือเป็นสัญลักษณ์ของหลวงพระบางหนีไม่พ้น วัดเซียงทอง (Wat Xiang Thong) ที่นักโบราณคดียกย่องว่าเป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว วัดเก่าแก่แห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1560 ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านช้าง (อาณาจักรเก่าในสมัยที่หลวงพระบางเป็นเมืองหลวง) อย่างเช่น พระอารามหลวงที่มีหลังคาแอ่นโค้งและลาดต่ำซ้อนกันสามชั้น สิมหรือพระอุโบสถที่ถือเป็นแห่งเดียวในหลวงพระบางที่ตกแต่งแบบศิลปะล้านช้างด้วยประติมากรรมฝาผนังฉลุลวดลายปิดทองบนพื้นรักสีดำรวมทั้ง ‘ลายต้นทอง’ ภาพต้นไม้ที่ตกแต่งด้วยกระจกหลากสีสันบริเวณด้านหลังพระอุโบสถ อันเป็นสัญลักษณ์อันโด่งดังที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องมาดูให้เห็นกับตา อีกหนึ่งไฮไลต์ที่เห็นจนชินตาคือหอพระพุทธรูปปางพุทธไสยาสน์ วิหารขนาดเล็กที่มีผนังด้านนอกทาด้วยสีชมพูและตกแต่งด้วยกระจกสีชิ้นเล็กๆ ที่นำมาวางต่อกันเพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตของชาวลาวได้สวยตะลึงตา ใครมาก็ต้องไปโผล่หน้าถ่ายรูปกับหน้าต่างบานดัง ก่อนกลับอย่าลืมแวะไปที่โรงเมี้ยนโกศที่เก็บราชรถพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา รวมทั้งพระพุทธรูปโบราณหลายองค์ที่หาชมได้ยาก

 

นอกจากนี้ยังมีพระธาตุพูสี ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงกลางเมือง โดยต้องเดินขึ้นบันได 328 ขั้นที่มีต้นจำปาหรือดอกลั่นทมปลูกขนาบสองข้างทาง แต่ก็คุ้มค่าเหนื่อยเพราะสามารถเห็นวิวของหลวงพระบางได้โดยรอบจากเบื้องบน ใกล้บริเวณทางขึ้นยังเป็นที่ตั้งของพระราชวังหลวงพระบาง ที่จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงพระบาง รวมทั้งมีห้องโถงด้านหน้าซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวลาวที่หล่อขึ้นด้วยทองคำบริสุทธิ์เกือบทั้งองค์

 

ท่ามกลางการครองตำแหน่งเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม หลวงพระบางกำลังยืนอยู่ตรงกลางระหว่างการรักษาวัฒนธรรมอันเก่าแก่กับการเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับ ‘กระแสนิยม’ ซึ่งอาจมีส่วนในการบิดเบือนเมืองมรดกโลกแห่งนี้ให้แตกต่างไปจากเดิมได้ อย่างในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาเหยียบหลวงพระบางกว่า 200,000 คน ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรชาวหลวงพระบางราว 400,000 คน ที่นี่จึงต้องเข้มงวดในการรักษาหัวใจสำคัญของเมืองไว้ อย่างเช่นการห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 2 ชั้น ต้องมีสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างลาวและโคโลเนียล และการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานและสิ่งปลูกสร้างต่างๆก็ต้องมีการยื่นแบบให้องค์การมรดกโลกตรวจสอบก่อนเพราะหากทำผิดระเบียบจะถูกทุบทิ้งทันที

 

นอกจากเรื่องสิ่งปลูกสร้างแล้ว สิ่งท้าทายอีกอย่างของหลวงพระบางคือการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีแบบเดิมไว้ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ยากกว่า อย่างการที่รัฐบาลลาวออกข้อบังคับให้ผู้หญิงลาวนุ่งผ้าซิ่นไปติดต่อราชการ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในออฟฟิศราชการก็ต้องนุ่งผ้าซิ่นยกเว้นตำรวจ ประเพณีปฏิบัติที่คนทั่วโลกรู้จักและเฝ้ารอวันไปสัมผัสคือการตักบาตรข้าวเหนียวในตอนเช้า และนั่นส่งผลให้ ‘กิจกรรมทางศาสนา’ ถูกเปลี่ยนสถานะเป็น ‘ธรรมเนียมปฏิบัติของนักท่องเที่ยว’

 

ก่อนแสงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า ชาวหลวงพระบางรีบตื่นนอน ออกไปจับจ่ายสินค้าในตลาดเช้า กลับมาหุงอาหารเพื่อถวายพระ และรีบออกไปจับจองพื้นที่บนทางเท้า โดยผู้หญิงต้องนุ่งผ้าซิ่น มีแพรเบี่ยงหรือผ้าสไบพาดไหล่ ส่วนผู้ชายต้องนุ่งกางเกงขายาวและมีผ้าพาดไหล่เช่นกัน ทุกคนนั่งคุกเข่าอยู่บนเสื่อ ในมือมีกระติ๊บบรรจุข้าวเหนียวหรือห่อไว้ในใบตอง และจกข้าวเหนียวใส่บาตรพระสงฆ์นับร้อยรูปที่เดินมาบิณฑบาตเป็นแถวยาวซึ่งต้องทำอย่างรวดเร็ว (ส่วนกับข้าวนั้นชาวบ้านจะนำไปถวายที่วัดก่อนพระฉัน เรียกว่าถวายจังหัน) แม้พระสงฆ์และชาวหลวงพระบางจะชินกับการถูกนักท่องเที่ยวถ่ายภาพในทุกๆ เช้า แต่เราก็ควรให้เกียรติและเคารพเจ้าของบ้านด้วยการปฏิบัติอย่างถูกต้อง สำรวม และพึงระลึกเสมอว่านี่คือกิจกรรมทางศาสนา ทุกวันนี้มีพ่อค้าแม่ค้าหุงข้าวเหนียวมาขายนักท่องเที่ยวตามทางเท้า แม้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิด แต่มันยิ่งทำให้เส้นกั้นระหว่างขนบประเพณีและธุรกิจบางลงกว่าเดิม

 

ความน่ารักอีกอย่างของเมืองของหลวงพระบางคือการวางผังเมืองที่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดตา และมีรถใหญ่วิ่งกันน้อย ดังนั้นวิธีการเดินทางที่ดีที่สุดในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ก็คือการขี่จักรยาน ที่ขอรับประกันว่าเป็นอะไรที่ฟินมาก โดยเฉพาะช่วงที่ขี่ชมวิวของริมฝั่งโขง แต่ขอให้แนบแผนที่ติดตัวไปด้วยเพราะมีเส้นทางวันเวย์อยู่พอสมควร หรือถ้าไม่อยากเมื่อยขาก็โบกแท็กซี่สามล้อที่หน้าตาเป็นฝาแฝดตุ๊กตุ๊กบ้านเรา คนขับเป็นมิตร คิดค่าโดยสารไม่แพง และไม่เกี่ยงงอนในการรับผู้โดยสารเหมือนบางประเทศ

 

แน่นอนว่าหลวงพระบางไม่มีห้างสรรพสินค้า สถานที่ช้อปที่อิ่มเอมที่สุดคือตลาดมืด บริเวณหน้าพระราชวังเก่า บนถนนศรีสว่างวงศ์ พอตกเย็นพ่อค้าแม่ค้าก็มาตั้งแผงขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวเป็นทิวแถวคล้ายถนนคนเดินบ้านเรา ของที่มาขายก็หนีไม่พ้นของที่ระลึกดาษดื่นอย่าง ผ้าซิ่น กางเกงผ้าฝ้าย เสื้อยืด เครื่องประดับ และของแต่งบ้าน สนนราคาสมเหตุผลและต่อรองได้ แนะนำให้มาเดินย่อยอาหารหลังปิดฉากมื้อเย็น เพราะร้านรวงในย่านนั้นเปิดขายกันถึง 3-4 ทุ่ม

 

พูดถึงเรื่องอาหารการกินนั้นรับรองว่าถูกปากคนไทย เพราะอาหารลาวไม่ได้แปลกพิสดารจากบ้านเรานัก อย่าพลาดชิมส้มตำหลวงพระบางที่ฝานเนื้อมะละกอเป็นเส้นใหญ่บางกรอบ ใส่น้ำกะปิที่ซ่อนกลิ่นปลาร้านิดๆ (คนเกลียดปลาร้าก็กินได้เพราะกลิ่นไม่หนัก) อ้อ ขอเตือนว่าคนลาวใส่ผงชูรสกันแบบมหึมา อย่าแปลกใจที่จะรู้สึกลิ้นชาปากชาและการคิดจะสั่งแบบไม่ใส่ผงชูรสก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน ถ้าไม่แพ้จริงๆ ก็หลับหูหลับตากินไปละกัน เมนูอีกจานที่เหมาะสำหรับคนอยากลองของแปลกคือสเต็กเนื้อควาย เราได้ลองสั่งมากินที่ร้านอาหารชื่อดัง เลลิฟองต์ (L’Elephant) อร่อยดีนะ ทำเป็นเล่นไป ไม่เหม็นสาบ รสชาติคล้ายเนื้อแกะผสมเนื้อวัว ถ้าไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าเป็นเนื้อควาย คนลาวรับประทานเนื้อควายกันแบบไม่เคอะเขิน ในตลาดสดยังมีแคบควายและหนังควายขายกันทุกร้าน เช่นเดียวกับแจ่วบอง น้ำพริกสุดแซบสไตล์ลาวที่ต้นตำรับต้องใส่หนังควายผสมลงไปด้วย ใครชอบอาหารสไตล์นี้อย่าลืมซื้อติดมือกลับมาเป็นน้ำพริกสารพัดนึกที่ใช้เป็นเครื่องจิ้มได้ทุกอย่างหรือจะคลุกข้าวกินกับไข่ต้มก็อร่อยลืม

 

ที่กินอีกแห่งที่อยากแนะนำคือ โจมา (Joma) เบเกอรีและคาเฟ่ที่ตกแต่งร้านได้สวยดิบแบบปูนเปลือยประดับภาพวาด ซุกตัวอยู่ในอาคารสองชั้นสไตล์โคโลเนียล กลายเป็นขวัญใจของฮิปสเตอร์หลวงพระบางและนักท่องเที่ยวที่ต่างพากันมาจับจองพื้นที่นั่งพักขาดื่มกาแฟพลางละเลียดอาหารเบาๆ อย่างขนมเค้กและไอศกรีมโฮมเมด หรือถ้าหิวจัดก็มีอาหารฝรั่งอย่างพิซซ่า ลาซานญ่า และสลัดที่คนเคยชิมบอกว่าอร่อยทีเดียว สำหรับมนุษย์ค้างคาวที่อยากมาให้ถึงหลวงพระบางจริงๆ ตกดึกอย่าลืมแวะไปดาวฟ้า ผับยอดฮิตของวัยรุ่นหลวงพระบาง เข้าไปถึงก็ทำเนียนด้วยการสั่งเบยลาวมาดื่มสักแก้ว (คนลาวเรียกขวดว่าแก้ว เรียกแก้วว่าจอก) แอบชำเลืองมองการแต่งตัวของวัยรุ่นลาวพ.ศ.นี้ที่น่าฮักจนเราอาย พลางโยกตัวไปกับการแสดงสดที่ ‘ร้องเพลงไทย’ แทบทุกเพลง ซ้ำร้ายกว่านั้นยังร้องตามกันได้ทั้งผับ ถ้ายังไม่ง่วงจนอยากกลับโรงแรมก็อยู่ม่วนซื่นกันต่อกับเพลงสากลใหม่ๆ จากดีเจเปิดแผ่นที่ฝีมือใช่ย่อยเลยล่ะ

 

ถ้าเที่ยววัดจนเบื่อแล้วก็แบ่งเวลาสักครึ่งวันไปเสพธรรมชาตินอกเมือง อย่างการนั่งเรือล่องลำน้ำโขงไปชมถ้ำติ่ง (Tam-ting) ที่มีพระพุทธรูปนับพันองค์วางเรียงรายอยู่ข้างใน หรือถ้าไปช่วงอากาศร้อนก็น่าไปกระโดดน้ำเล่นที่น้ำตกกวางสี (Kouangxi Water Fall) น้ำตกสีเขียวมรกตชื่อดังของหลวงพระบาง ระหว่างทางกลับจากน้ำตกเราพบกลุ่มเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นแก้ผ้ากระโดดน้ำอยู่ริมธาร ส่งเสียงเกรียวกราวกันสนุกสนาน เราเข้าไปทักทายพูดคุยและเห็นสภาพบ้านของพวกเขาที่เป็นเพียงบ้านไม้เก่าๆ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีแอลซีดีจอใหญ่ ไม่มีไอโฟนหรือแท็บเล็ตไว้เล่นเฟซบุ๊ก ของแบรนด์เนมฟุ้งเฟ้อยิ่งไม่ต้องพูดถึง

 

แต่ที่หน้าบ้านของพวกเขามีสระว่ายน้ำธรรมชาติใสสะอาดขนาดใหญ่ที่ไหลลงมาจากน้ำตกเบื้องบน มีสายลมจากขุนเขาพัดผ่าน โอบล้อมด้วยแมกไม้อันร่มเย็นเท่านั้นเอง สิ่งเหล่านี้กระมังที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะบนใบหน้าเด็กๆ ทุกคน… รอยยิ้มและเสียงหัวเราะอันเปี่ยมสุข ชนิดที่เราถามตัวเองว่า “เราเคยมีความสุขมากขนาดนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่”
เรื่องและภาพ: ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์

 

 

how to get there?

 

Bangkok Airways ให้บริการบินตรงเส้นทางกรุงเทพฯ-หลวงพระบาง วันละ 2 เที่ยวบิน ทั้งไปและกลับ พร้อมด้วยบริการห้องพักรับรองผู้โดยสาร Boutique Lounge ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม และบริการอินเทอร์เน็ต เข้าชมรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ www.bangkokair.com หรือโทร. 1771

 

 

สำหรับผู้ที่สนใจแพ็กเกจตั๋วเครื่องบินพร้อมห้องพักในหลวงพระบาง สามารถติดต่อได้ที่ Bangkok Travel Club โทร. 0-2255-8966 หรือเข้าชมรายละเอียดที่ www.bangkoktravelclub.co.th

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply