fashion field trip

the pain painter


บ่ายวันธรรมดา ภายในห้องทำงานบริเวณชั้นลอยของบ้านที่แสนจะเงียบสงบและร่มรื่น ได้ยินเสียงเพลงฝรั่งหลากท่วงทำนองจากเว็บไซต์ดนตรีดังคลอเบาๆมาจากคอมพิวเตอร์ เป็นซาวด์แทร็กประกอบคำสารภาพที่แสนจะหนักแน่นจากปากคำของ โอ – ธีรวัฒน์ เฑียรประสิทธิ์ได้อย่างเข้ากัน “ถ้าไม่วาดรูป ผมคงทำอย่างอื่นไม่เป็น”

 

the cartoon maniac

หากคุณเป็นคนรักการอ่านนิตยสารอย่างลุ่มหลงคงคุ้นชื่อ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ ในฐานะนักวาดภาพประกอบเจ้าของผลงานที่หลากหลายตามหน้านิตยสารจำนวนมากมานานกว่า10 ปี นับตั้งแต่ที่ชายหนุ่มถนัดซ้ายคนนี้เริ่มจับดินสอเป็นและอ่านหนังสือการ์ตูนออกเขาก็ไม่เคยหยุดใช้มือซ้ายของเขาในการขีดเขียนรูปการ์ตูนแม้แต่วันเดียว

 

“สมัยอยู่ชั้นประถม เราใช้เวลาวาดรูปการ์ตูนเล่นกับเรียนหนังสือในสัดส่วน 50/50 โดยมีญาติคนหนึ่งซึ่งเรียนอยู่คณะจิตรกรรมเป็นคนสอนเราวาดรูปมาตั้งแต่เด็กตอนเรากำลังจะขึ้นชั้นม.1 เขาบอกกับแม่เราว่า ถ้าเราไม่ได้เรียนศิลปะ เขาจะเสียใจมาก” หนึ่งในความมั่นใจประกอบกับความสามารถด้านการวาดรูปที่โดดเด่นเสมอมาทำให้เด็กชายธีรวัฒน์มุ่งมั่นเอาดีบนเส้นทางสายนี้มาโดยตลอด

 

ถึงอย่างนั้นก็ตาม โอเคยสูญเสียความมั่นใจขั้นหนักเมื่อแรกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยศิลปะอันดับหนึ่งของเมืองไทย เพราะเด็กสายสามัญที่แค่มีใจรักการวาดการ์ตูนอย่างเขาย่อมแพ้ราบคาบให้กับเพื่อนๆ อีกมากมายที่เรียนด้านศิลปะมาโดยตรง จากที่เคยปิดโลกของตัวเองอยู่แต่การวาดการ์ตูนตามถนัด โอเริ่มก้าวเข้าสู่โลกของกราฟิกดีไซน์จากความบังเอิญในร้านหนังสือ

 

“ยอมรับเลยว่าสมัยก่อนเราโลกแคบมาก เป็นเด็กเนิร์ดที่จับจดอยู่กับตัวเอง เอาแต่วาดรูปการ์ตูนกับเล่นเกม จนวันหนึ่งเพื่อนชวนไปร้านคิโนะคุนิยะที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในสมัยนั้น พอเราเปิดหนังสือกราฟิกดูจึงรู้สึกซาบซึ้งกับความเป็นกราฟิกเลย์เอาต์ และไทป์เฟซต่างๆ เหมือนได้พบโลกใหม่อีกใบจึงทดลองทำงานแบบอื่นที่ไม่ใช่การ์ตูนดูบ้าง” นั่นคือก้าวแรกของเขาสู่การขยายกรอบแนวการวาดรูปของตน

 

the illustrator

งานวาดภาพประกอบอย่างเป็นทางการชิ้นแรกของโอปรากฏอยู่ในนิตยสารลิปส์ และผูกขาดการเป็นนักวาดภาพประกอบประจำลิปส์ยาวนานกว่าสิบปีจนถึงปัจจุบัน ไปพร้อมๆ กับการได้รับความไว้วางใจจากนิตยสารเกือบครบทุกหัวบนแผงหนังสือให้เขาวาดภาพประกอบสารพันเรื่องราวให้ จนกลายเป็นแขนงงานที่ ‘อยู่มือ’ ไปโดยปริยาย

 

“ช่วงแรกๆ เกร็งและกดดัน ด้วยความที่เราคิดว่านี่คือภาพประกอบเรื่อง เพราะฉะนั้นเราต้องอ่านเรื่องให้ถี่ถ้วน เพื่อที่จะเล่าเรื่องให้ได้ครบทุกอย่าง จนลืมไปว่าจริงๆ แล้วภาพประกอบนั้นมีหลายทาง เช่น การเล่าเรื่องแค่ประมาณนึง แต่สไตล์ภาพต้องเข้ากันกับหัวหนังสือนั้นๆ เช่น งานที่ทำให้ลิปส์ ซึ่งเป็นนิตยสารที่หรูและแฟชั่นมาก เราจึงไม่เล่าเรื่องโดยยัดทุกอย่างเข้าไปในรูปๆ เดียว เพราะเชื่อว่าลิปส์ไม่แฮปปี้แน่นอน เราจึงเลือกวาดองค์ประกอบน้อยๆ แต่สวย เพื่อให้คนอ่านได้ อ่านเรื่องประกอบกับภาพอันสวยงาม มีสไตล์ และเข้ากับหัวหนังสือ” เป็นหนึ่งตัวอย่างที่โอหยิบยกเพื่อบอกเล่าถึงลักษณะการทำงานภาพประกอบแต่ละครั้ง ซึ่งในแต่ละขวบปีที่เขาเติบโตขึ้น โอจะเปลี่ยนแนวทางในการทำภาพประกอบของเขาไปทีละน้อย “ก่อนที่เขาจะเบื่อและเลิกจ้างเรา เราเล่นเบื่อนำไปก่อนแล้ว และเปลี่ยนสไตล์ของภาพไปทุกปี” คือเหตุผลสั้นๆ แต่ชัดเจน ที่ทำให้ทุกงานภาพประกอบที่มีชื่อ ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์กำกับ เต็มไปด้วยความหลากหลายและมีพัฒนาการที่ชัดเจน ไล่มาตั้งแต่งานดรอว์อิ้งที่เจ้าตัวถนัด งานลงสีน้ำละเมียดละไม งานภาพขาวดำ ไปจนถึงงานกราฟิกคมๆ

 

“เราค้นพบว่าตัวเองทำงานหลากหลาย เพราะเริ่มต้นจากการ์ตูน แล้วมาเรียลิสติก ต่อด้วยกราฟิกเรียกว่าเราชอบหมด และทำทุกงานอย่างมีความสุข แต่การที่เราเปิดกว้างมากขนาดนี้ ทำให้เราไม่สามารถเรียกตัวเองว่าศิลปินได้ เราไม่มีสไตล์อะไรที่คนเห็นแล้วจดจำได้ขนาดนั้น” เขาถ่อมตัว

 

“เราเป็นพวกภูมิใจในตัวเองและพร้อมที่จะเหยียบตัวเองตลอดเวลา อย่างเวลาทำงานตัวเองสวย ก็มานั่งชื่นชมผลงานตัวเอง พอเจองานคนอื่นสวยกว่า เราก็กลับมาเหยียบตัวเองซ้ำด่าตัวเองในใจเสียไม่เหลือดี ฟังดูซาดิสม์แต่ทำให้เรามีความกระตือรือร้นตลอดเวลา เราไม่ชอบคำว่าเฉยๆ เรารู้สึกว่า ‘เฉยๆ’ ไม่ก่อให้เกิดแรงขับอะไรเลยเรากลับรู้สึกว่าสะใจดีเสียอีกที่ได้รู้สึกดีและรู้สึกแย่สลับกันไป” โอเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ถึงหนึ่งในวิถีปฎิบัติสู่ความพึงพอใจในผลงาน

 

that’s how i know the pain

ภายในห้องทำงานของเขา เต็มไปด้วยภาพวาดฝีมือเจ้าตัวแปะอยู่บนผนัง หรือใส่กรอบประดับข้างฝาในชั้นหนังสือก็อัดแน่นไปด้วยหนังสือหลากหลาย ไล่เรียงไปจนถึงผลงานออกแบบลวดลายบนชิ้นงานต่างๆ ทั้งรองเท้าผ้าใบ แหวน รอยสัก ไปจนถึงผืนพรม โอเอนหลังนั่งคุยสบายๆ บนเก้าอี้ทำงาน เขาสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นของ Painkiller (เพนคิลเลอร์) แบรนด์เสื้อผ้าที่สามพี่น้องแห่งตระกูลเฑียรฆประสิทธิ์ช่วยกันปลุกปั้นขึ้นเองกับมือ

 

อย่างที่เจ้าตัวพยายามบอกมาตลอดว่าเขาเป็นหนุ่มเนิร์ดที่อยู่ห่างไกลจากคำว่าแฟชั่นอยู่หลายปีแสงก่อนจะค่อยๆ โคจรเข้าใกล้กันทีละน้อย เริ่มต้นจากการวาดภาพประกอบใน Lookbook ให้กับแบรนด์เสื้อผ้าวินเทจสวยหวานอย่าง Sretsis จนเขยิบมาออกแบบลายผ้าพิมพ์ ผ้าลูกไม้ และอื่นๆ อีกมากมายให้ Sretsis ว่างๆ ก็ออกแบบลายเสื้อยืดส่งประกวดจนชนะและได้รับการผลิตขายจริงทั้งกับ Graniph และ Uniqlo แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น ยังไม่นับรวมอีกหลากหลายแบรนด์ไทยที่เริ่มหันมาใช้บริการงานออกแบบของโอมากขึ้น ก่อนที่สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ น้องสาวคนเล็กของบ้านที่เพิ่งสำเร็จปริญญาสาขาแฟชั่น จะชวนเขาและพี่ชายคนโตมาสร้างสรรค์เสื้อผ้าสำหรับบุรุษด้วยกัน

 

ทุกวันนี้วงโคจรของโอกับโลกแฟชั่นจึงเข้าใกล้กันมากขึ้นกว่าเดิม “ตอนนี้แฟชั่นคือ 60 เปอร์เซ็นต์ในตัวเรา” เขาว่าอย่างนั้น

 

“ความยากในการออกแบบให้ Painkiller คือข้อจำกัดของความเป็นผู้ชาย การจะให้ผู้ชายใส่เสื้อผ้าลายดอกย่อมไม่เหมือนผู้หญิงใส่ลายดอก เราต้องหาเรเฟอเรนซ์ว่าผู้ชายเขาใส่อะไรกัน แต่ด้วยความที่เราเคยชินกับงานพาณิชย์มาก ฉะนั้นไม่ว่าจะงานสุดโต่งไม่มีกรอบหรืองานที่มีกรอบอย่าง Painkiller เราก็ชอบอยู่ดี ซึ่งกว่าจะปรับตัวได้ ก็ทะเลาะกันเองไปหลายยกเพราะมีเรื่องต้องเคลียร์กันเยอะ อย่างครั้งหนึ่งที่เราเอาแต่นั่งจับจดอยู่กับลายพิมพ์นี้ให้สวยที่สุด จนสุดท้ายแล้ว งานเสร็จออกมาไม่ทันพิมพ์ ทำให้ถูกพิมพ์ออกมาแย่จนไม่สามารถวางขายได้ ทำให้เรารู้เลยว่าเราตามใจตัวเองมากเกินไป โดยไม่ยอมฟังน้องสาว ไม่ยอมเคารพในไทม์ไลน์ที่เขากำหนด พาลทำให้ทุกอย่างช้าไปหมด”

 

บทเรียนครั้งนั้นทำให้โอเข้าใจและยอมรับกฎเกณฑ์ของโลกแห่งแฟชั่นได้ดียิ่งขึ้น และเพราะจุดมุ่งหมายที่สามพี่น้องมีร่วมกันต่อแบรนด์นี้คือ ‘การเติบโตแบบเล็กๆ’ พวกเขาแค่อยากให้บุคคลที่ตนรักและเคารพสวมใส่เสื้อผ้าของ Painkiller โดยที่ไม่ได้อยากเติบโตเป็นแบรนด์ใหญ่ จึงทำให้ความสนุกและความสุขในการออกแบบ ยังคงคุกรุ่นอยู่อย่างโชติช่วงในตัวนักออกแบบที่มีความเป็นเด็กเสมอในหัวใจ จนธีรวัฒน์นึกอยากแบ่งปันเคล็ดลับแห่งความสุขแบบพอดีนี้แก่นักออกแบบรุ่นใหม่

 

“สมัยนี้ทุกอย่างง่ายขึ้น ทั้งการวาด การดราฟต์การดัง การพรีเซนต์ตัวเอง กระทั่งการมีเพจของตัวเองก็ยิ่งง่าย หน้าที่ของเด็กรุ่นใหม่คือ ต้องหาตัวตนของตัวเองให้ได้ ภายในกระแสของโลกที่ทุกอย่างปรากฏออกมาชัดเจนไปหมด มีสไตล์ที่ชัดเจนออกมามากมาย โดยที่การก๊อบปี้ทำไม่ได้อีกต่อไปในโลกที่ทุกอย่างแชร์ถึงกันหมดแล้ว” ช่างวาดรูปมืออาชีพเอ่ยทิ้งท้าย

 

เรื่อง: ณวดี ปัตเมฆ

ภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply